ปลาซิลาเเคนท์ยังมีชีวิตอยู่ใต้ท้องทะเลจริงๆ แม้ว่าครั้งหนึ่งบรรดานักบรรพชีวินจะเคยคิดได้หายสาบสูญไปแล้วเมื่อ 350 ล้านปีที่แล้ว
ค้นหา
แต่ขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังเตรียมตัวเริ่มต้นการค้นหาปลาซิลาเเคนท์ที่อาจอาศัยใต้ทะเลลึกในบริเวณหมู่เกาะเซแชลล์สในมหาสมุทรอินเดีย ทีมนักวิจัยเหล่านี้หวังว่าอาจจะค้นพบสิ่งที่น่าแปลกใจอื่นๆ อีกหลายอย่าง นอกเหนือจากปลาโบราณซิลาเเคนท์
อเล็กซ์ โรเจอร์ส แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด กล่าวว่า เเม้ว่าจะมีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับสิ่งมีขีวิตในทะเลในระดับน้ำตื้น อาทิ การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของปะการัง แต่เเทบไม่มีการศึกษาวิจัยใต้ทะเลลึกในบริเวณรอบหมู่เกาะหมู่เกาะเซแชลล์สมาก่อนเลย ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงไม่รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้างที่อาศัยในบริเวณนี้ เเละเป้าหมายของโครงการวิจัยนี้คือมุ่งค้นหาคำตอบเหล่านี้
โอลิเวอร์ สตีดส์ ผู้อำนวยการแห่งสถาบันวิจัยใต้ทะเลลึก Nekton กล่าวว่า ในการศึกษา ทีมนักวิจัยใช้ยานพาหนะอัตโนมัติที่ควบคุมทางไกล หรือ ROVs (Remotely Operated Vehicles) ร่วมกับเรือดำน้ำขนาดเล็กเเละอุปกรณ์วิจัยอื่นๆ เพื่อศึกษาสร้างความเข้าใจหลายทางถึงการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร
ทีมนักวิจัยชี้ว่า การเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในท้องทะเลไม่ได้เป็นเรื่องของการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการเท่านั้น เเต่อาจเป็นโครงการที่หมายถึงความเป็นความตายก็ได้
โอลิเวอร์ สตีดส์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีความเร่งด่วนอย่างมาก เพราะมหาสมุทรกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าหลายล้านปีที่ผ่านมา เเละทีมงานจำเป็นต้องเข้าใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และต้องเข้าใจในตอนนี้ มหาสมุทรกำลังเข้าสู่สภาพการเปลี่ยนแปลงมากมายจนอยู่ในขั้นที่อาจทำลายความสามารถของมหาสมุทรในการรองรับสิ่งมีชีวิตบนโลก
โครงการวิจัยใต้ทะเลลึก Nekton นี้ได้เริ่มต้นการเดินทางค้นหาปลาโบราณซิลาเเคนท์นี้เเล้วในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา