จำลอง "ฉลามมีปีก" Aquilolamna milarcae ที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์
ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติจากฝรั่งเศส เยอรมนี และเม็กซิโก เผยผลวิเคราะห์ซากฟอสซิลของ "ฉลามมีปีก" อายุเก่าแก่ 93 ล้านปี ในวารสาร Science โดยชี้ว่าเป็นฉลามรูปร่างประหลาดที่ไร้กระโดงหรือครีบหลัง แต่กลับมีครีบด้านข้างลำตัวที่ยาวและกว้างคล้ายปีกเครื่องบิน สามารถใช้ร่อนเหมือนกับบินในน้ำทะเลเช่นเดียวกับกระเบนราหูได้
ฉลามโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aquilolamna milarcae มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสที่ไดโนเสาร์ครองโลก ก่อนที่กระเบนราหูซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดของฉลามจะถือกำเนิดขึ้นมาหลายสิบล้านปี
ฉลามมีปีกชนิดนี้เป็นฉลามที่กรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารเหมือนกับฉลามวาฬ อาศัยอยู่ในบริเวณ Western Interior Seaway ซึ่งเป็นช่องที่น้ำทะเลไหลเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ จนกลายเป็นทางน้ำเชื่อมต่ออ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรอาร์กติกในยุคโบราณ
พฤติกรรมกินพี่น้องร่วมท้องทำให้ฉลามยักษ์ "เม็กกาโลดอน" มีขนาดมหึมา
4 เรื่องจริงของฉลามยักษ์ "เม็กกาโลดอน" ที่ต่างจากหนังดังอย่างสิ้นเชิง
ผิวหนังฉลามอาจช่วยต้านซูเปอร์บั๊ก
มีการค้นพบฟอสซิลนี้เมื่อปี 2012 ในเหมืองหินทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเม็กซิโก โดยพบว่าครีบด้านข้างที่คล้ายปีกนกนั้น เมื่อกางออกเต็มที่จะมีความยาวจากปลายข้างหนึ่งไปจรดอีกข้างหนึ่งเกือบ 2 เมตร ในขณะที่ลำตัวมีความยาว 1.65 เมตร ทำให้มันเป็นสัตว์ที่มีความกว้างของลำตัวมากกว่าความยาว นอกจากนี้มันยังมีส่วนหัวสั้น จมูกสั้น แต่มีปากกว้างอีกด้วย
ซากฟอสซิลเก่าแก่ 93 ล้านปี ซึ่งจะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศเม็กซิโก
ฉลามและกระเบนราหูจัดเป็นสัตว์จำพวก Elasmobranch หรือปลากระดูกอ่อนเหมือนกัน ทั้งยังกรองกินแพลงก์ตอนเช่นเดียวกันอีกด้วย แต่การที่ฉลามมีปีกมีอายุเก่าแก่กว่าและมีครีบด้านข้างขนาดใหญ่เหมือนกระเบนราหูนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นบรรพบุรุษของกระเบนราหูแต่อย่างใด แต่เป็นวิวัฒนาการแบบเบี่ยงเบนเข้าหากัน (Convergent evolution) หรือการที่สัตว์ต่างชนิดพัฒนาโครงสร้างแบบเดียวกันขึ้นมาโดยแยกกันมีวิวัฒนาการแบบเป็นอิสระจากกัน
ทีมผู้วิจัยคาดว่าฉลามมีปีกน่าจะว่ายน้ำได้ค่อนข้างช้าและไม่ใช่นักล่าที่น่ากลัว โดยมันจะใช้ครีบด้านข้างที่ทั้งกว้างและยาวช่วยทรงตัวขณะร่อนไปในน้ำเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอาศัยครีบหางที่แข็งแกร่งตวัดไปมาทางซ้ายและขวา รวมทั้งใช้ลำตัวรูปทรงตอร์ปิโดช่วยในการว่ายไปข้างหน้ามากกว่า
แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าฉลามมีปีกสูญพันธุ์ไปเนื่องจากสาเหตุใด แต่ทีมผู้วิจัยคาดว่าอาจเป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ซึ่งก็คือหายนะจากอุกกาบาตขนาดยักษ์ที่พุ่งชนโลก โดยผลพวงจากการชนปะทะที่ทำให้เกิดแรงระเบิดมหาศาลและอุณหภูมิสูง เปลี่ยนผิวหน้าของน้ำทะเลให้เป็นกรดอย่างแรง จนแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของฉลามมีปีกตายไปจนหมด