Search

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คราวน์เตตร้า ปลาจอมดุแต่สวยจากแอฟริกา


หากแม่น้ำอเมซอนคือเส้นเลือดใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้ แม่น้ำคองโกก็เป็นเช่นเดียวกันในทวีปแอฟริกา ภายใต้สายน้ำยิ่งใหญ่แห่งนี้อุดมไปด้วยสายพันธุ์ปลามหาศาล และมีนับพันชนิดที่กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามในตู้กระจกของนักเลี้ยงปลา ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ปลาคราวน์เตตร้าก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

คราวน์เตตร้าคือปลาขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำคองโกและทะเลสาบ ทังกันยิกา ชื่อวิทยาศาสตร์ของมันคือ Distichodus sexfasciatus (อ่านว่า “ดิสทิโคดัส เซ็กส์ฟาสเซียตัส”) ฝรั่งตั้งชื่อทางการค้าให้ว่า Six-Barred Distichodus แต่นักเลี้ยงปลาบ้านเราถนัดเรียกมันว่า “คราวน์เตตร้า” ซึ่งเรียกกันมาหลายสิบปีแล้วตั้งแต่นำเข้ามาใหม่ ๆ

คราวน์เตตร้ามีรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด กล่าวคือมีรูปทรงยาวลำตัวกว้างโดยเฉพาะช่วงกลางตัว ในขณะที่ส่วนหัวเล็ก ปากเรียวเล็กงุ้มลงเป็นจะงอยคล้ายปากนก มีฟันคมแข็งแรงสำหรับกัดจิกแทะพืชเหนียว ๆ แข็ง ๆ หรือแม้กระทั่งใช้ขบเปลือกของสัตว์มีกระดองต่าง ๆ เพื่อกินเนื้อข้างในเป็นอาหาร ครีบของคราวน์เตตร้ามีสีแดงสด ครีบหลังแบ่งเป็นครีบกระโดงที่ตั้งสูงชันมีขนาดใหญ่กับครีบไขมันที่อยู่ถัด ไปทางหางซึ่งมีขนาดเล็กมากแต่ก็ยังคงสีแดงสดไว้ได้อย่างสวยงาม จุดเด่นของปลาชนิดนี้นอกจากสีแดงของครีบทุกครีบแล้วยังมีลายสีดำพาดเป็นแนว ตั้งบนพื้นลำตัวสีเหลืองอีก 6 ลาย (นี่คือที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ว่า sexfasciatus โดยคำว่า sex แปลว่า 6 และ fasciatus แปลว่าลาย) แต่ก็มีบ้างที่พบคราวน์เตตร้า 7 ลาย ทว่าไม่บ่อยนัก

ใครที่เห็นปลาคราวน์เตตร้าที่เขาขายตามร้านขายปลาก็มักคิดว่ามันคงไม่โต เท่าไหร่นัก ซึ่งคิดผิดครับ ปลาชนิดนี้เป็นปลาใหญ่มาก ๆ ทีเดียว ในธรรมชาติปลาคราวน์เตตร้าขนาดเกินฟุตถูกพบเห็นบ่อยมาก และขนาดใหญ่ที่สุดของมันที่เคยวัดกันก็มีความยาวถึง 76 ซ.ม.! ทว่าปลาที่เลี้ยงในตู้มักไปได้ไม่ถึงครึ่งของขนาดจริง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ราว ๆ 30-40 ซ.ม. ซึ่งก็ถือว่าใหญ่มากแล้วสำหรับปลาเลี้ยงสวยงามในตู้กระจก

ธรรมชาติของปลาคราวน์เตตร้าจะว่ายหากินเป็นฝูงตามพื้นน้ำ จิกกินพืชและสัตว์ขนาดเล็ก ๆ กินเป็นอาหารตลอดทั้งวัน ขนาดที่ใหญ่โตของมันจึงไม่ค่อยมีศัตรูมากเท่าไหร่นัก นอกจากปลานักล่าขนาดยักษ์กับมนุษย์อย่างเรา ๆ นี่แหละ อุปนิสัยของคราวน์เตตร้าเรียกได้ว่าโครตดุ ใครที่เคยเลี้ยงจะรู้ว่ามันไล่กัดปลาแทบทุกชนิดแม้กระทั่งปลาที่ใหญ่กว่ามัน เพราะฉะนั้นการเลี้ยงเดี่ยวคงจะเหมาะสุดสำหรับปลาชนิดนี้ ยกเว้นผู้เลี้ยงมีตู้ใหญ่ยักษ์ก็สามารถเลี้ยงคราวน์เตตร้าเป็นฝูงหรือรวมกับ ปลาขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่นปลาหมอสี ปลาอะโรวาน่า ปลาไบเคอร์ ปลาแคทฟิชชนิดต่าง ๆ ฯลฯ

การจัดตู้สำหรับเลี้ยงคราวน์เตตร้าเน้นให้มีพื้นที่โล่งค่อนข้างมาก ใช้ทรายหรือกรวดเป็นวัสดุปูพื้นได้ แต่ไม่ควรปลูกพืชน้ำใบอ่อนเพราะปลาจะจิกแทะเป็นอาหารจนเกลี้ยง ควรประดับตกแต่งตู้ด้วยขอนไม้และหินประดับจะทำให้ตู้ดูเป็นธรรมชาติมีชีวิต ชีวา เนื่องจากในธรรมชาติปลาคราวน์เตตร้าจะกินได้ทั้งพืชและสัตว์ อาหารที่เหมาะสมกับมันเมื่อนำมาเลี้ยงในตู้คือผักชนิดต่าง ๆ เช่นกะหล่ำปลี ถั่วลันเตา ผักขม แครอท ก่อนนำมาให้ควรแช่น้ำนาน ๆ และลวกด้วยน้ำร้อนเพื่อให้ผักนิ่มและจมเนื่องจากปลาคราวน์เตตร้าชอบกินอาหาร ตามพื้นมากกว่าจะกินบนผิวน้ำ นอกจากนั้นควรให้อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ด้วย เช่นเนื้อกุ้ง ปลา หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรืออาจใช้ไส้เดือนน้ำ หนอนแดง ที่มีขายตามร้านปลาสวยงามก็ได้เช่นกัน แต่ควรระวังเรื่องความสะอาด ก่อนนำไปให้ปลากินควรแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้สักระยะก่อน ปลาคราวน์เตตร้าที่เริ่มเชื่องจะสามารถฝึกให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ เริ่มแรกแนะนำให้ใช้อาหารชนิดจมของปลาทองหรือปลาหมอสี เพื่อให้ปลากินง่าย ใช้เวลาไม่นานปลาจะเริ่มคุ้นและกล้าขึ้นมากินบนผิวน้ำได้จึงค่อยเปลี่ยนเป็น อาหารที่เหมาะสมต่อไป

คราวน์เตตร้ากินเก่งมีของเสียมาก ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับระบบกรองน้ำและเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ หากปล่อยน้ำทิ้งไว้นานปลาอาจเจ็บป่วยได้ง่าย และเป็นเช่นเดียวกับปลาในกลุ่มเตตร้าทั้งหลายทั้งปวงคือพวกมันแพ้สารเคมีทุก ชนิด เมื่อจะทำการรักษาด้วยยาจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมาก ดีที่สุดคือพยายามเลี้ยงดูอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้มันเจ็บป่วยครับ

ข้อควรคิดก่อนจะเลี้ยงคราวน์เตตร้า ประการแรกมันเป็นปลานิสัยดุร้ายก้าวร้าว การจะเอาไปเลี้ยงรวมกับปลาอื่นในตู้ที่ท่านมีอยู่เป็นไปได้ยากยิ่ง ประการที่สอง คราวน์เตตร้ามีขนาดใหญ่มากและอายุยืนเกินสิบปี หากจะเลี้ยงในระยะยาวต้องมีตู้ใหญ่มาก ๆ ประการสุดท้าย คราวน์เตตร้าในวัยเด็กจะมีสีสวยสะดุดตา สีเหลืองสดบนพื้นลำตัวตัดกับลายสีดำฉึบฉับ และสีแดงสดของครีบทุกครีบนั้นก็แสนจะน่าอัศจรรย์ ทว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไปหลายปีเข้า ปลาคราวน์เตตร้าในวัยโตสีจะเริ่มเลือนและเข้มคล้ำ ดูไม่สวยสดอย่างปลาเล็ก ท่านที่คาดหวังว่าปลาคราวน์เตตร้าจะมีสีอย่างตอนซื้อมาตลอดไปคงต้องคิดอีก ครั้ง แต่สำหรับท่านที่เข้าใจธรรมชาติของปลาชนิดนี้ การปรับเปลี่ยนสีก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของมันลดลงเลยเมื่อเทียบกับขนาดอันใหญ่ โตและความผูกพันที่อยู่ด้วยกันมายาวนาน แต่ถ้าใครอ่านบทความนี้แล้วเห็นว่าไม่เหมาะกับตู้ที่บ้าน ก็อย่าไปฝืนเลี้ยงมันเลยครับ

บทความโดย พิชิต ไทยยืนวงษ์

รายการบล็อกของฉัน