ปลาซัคเกอร์ปลาขนาดใหญ่ในตู้เลี้ยง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร:Animalia
ไฟลัม:Chordata
ชั้น:Actinopterygii
อันดับ:Siluriformes
วงศ์: Loricariidae
สกุล:Hypostomus
สปีชีส์:H. plecostomus
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hypostomus plecostomus(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง Plecostomus plecostomus
สำหรับปลาซัคเกอร์ในสกุล Pterygoplichthys ดูที่ ปลาซัคเกอร์
ปลาซัคเกอร์ธรรมดา หรือ ปลาเทศบาล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypostomus plecostomus ในวงศ์ปลาซัคเกอร์ (Loricariidae) เป็นปลาตู้ชนิดหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยกันดี มีหัวโต ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่างมีขนาดใหญ่และมีกล้ามเนื้อแข็งแรงสามารถใช้ดูดเกาะติดเป็นสูญญากาศกับตู้กระจกหรือวัสดุต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีลำตัวสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวสากและหยาบกร้านมาก หนังมีลักษณะแข็งจนดูเหมือนเกราะ มีลวดลายสีเขียวตามครีบหลังและครีบหาง ตัวผู้มีเงี่ยงแหลมบริเวณครีบอกและข้างหัว
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 2 ฟุต มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้
ปลาซัคเกอร์ชนิดนี้ถูกนำเข้าประเทศไทยในฐานะเป็นปลาสวยงามที่ใช้ทำความสะอาดเศษอาหารหรือคราบตะไคร่ภายในตู้ ซึ่งในบางครั้งพฤติกรรมของปลาซัคเกอร์ธรรมดา ถ้าหากอาหารไม่เพียงพอก็จะก้าวร้าวไล่ดูดเมือกของปลาอื่น จนถึงแก่ความตายก็มี และเนื่องจากเป็นปลาที่มีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แม้ในภาวะที่เป็นพิษ หรือแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนละลายในน้ำต่ำกว่ามาตรฐานปกติที่ปลาทั่วไปจะอาศัยอยู่ได้ จึงทำให้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ กรมประมงได้มีประกาศให้กลายเป็นปลาต้องห้ามสำหรับเลี้ยงและจำหน่ายแล้ว โดยรณรงค์ให้นำไปปรุงเป็นอาหารแทนถ้าหากเจอ
สำหรับชื่ออื่น ๆ ที่เรียกกันในภาษาไทย เช่น "ปลากดเกราะ", "ปลากดควาย" หรือ "ปลาดูด" เป็นต้น
ลักษณะของปลาซัคเกอร์
รูปร่างส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ปากจะคว่ำลง มีกล้ามเนื้อปากที่หนาแข็งแรงเพื่อใช้เกาะหรือดูดเก็บอาหารกิน เป็นปลาที่หน้าตาขี้เหร่มากบางคนก็เกลียดมันด้วยซ้ำไป เพราะว่ามีลำตัวทั้งสีดำหรือลายดำ ลายคล้ายตุ๊กแกและลายอื่น ๆ ซัคเกอร์มีขนาดลำตัวตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ถึง30 เซนติเมตร ชอบว่ายน้ำช้า ๆ และเป็นปลาที่แข็งแรงและทนทานต่อทุกสภาพ แม้ว่าน้ำที่ใกล้จะเน่าเสียมันก็มีชีวิตอยู่ได้ จากการทดลองนำตัวปลาซัคเกอร์ขึ้นมาไว้บนพื้นที่แห้ง ๆ มันสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้เกินกว่า 6-12 ชั่วโมง และทดลองจับแช่ในน้ำแข็งเพื่อให้เกิดการช็อกและสลบไป มันทนทานต่อความหนาวเย็นได้นานกว่า 2 ชั่วโมง
สาเหตุที่จัดว่าปลาซัคเกอร์เป็นปลาอันตราย
เมื่อหลายปีก่อนกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามได้มีการนำเข้าปลาซัคเกอร์มาจากประเทศบราซิลเข้ามาในบ้านเรา โดยเจตนาเลี้ยงเพื่อให้มันทำความสะอาดตู้ปลา แต่ในระยะต่อมาพอปลามีขนาดโตขึ้นกลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงามก็ไม่ได้ฆ่าหรือทำลายปลาซัคเกอร์แต่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเมื่อมีการหลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้เจ้าปลาโบราณหน้าตาแปลกประหลาดนี้มันขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เพราะ
ลักษณะภูมิอากาศที่มันเคยอยู่ในอเมริการใต้กับประเทศไทยมีลักษณะคล้ายกัน ทำให้มันสามารถที่จะ
แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงแม่น้ำโขง และในน้ำอีกหลายสายทั่วประเทศจากเดิมที่เข้าใจว่ามันกินอาหารจำพวกสาหร่ายหรือพืชนั้นแต่พอนำตัวมัน
มาเลี้ยงเพื่อทำการวิจัยกลับพบว่ามันกินเก่งและกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่ขยะ เศษอาหาร ไข่ปลา ไปจนถึงปลาชนิดอื่นๆ หากมันหิวมากและปลาซัคเกอร์มีหน้าตาที่น่าเกลียดและลำตัวที่แข็งเปรียบเสมือนเกราะของมันจึงดูน่ากลัวมากกว่า ด้วยปัจจัยนี้เลยทำให้มันรอดชีวิตและอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นจำนวนมากคาดว่ามีจำนวนหลายล้านตัว พร้อมทั้งกำลังอาละวาดทำลายล้างปลาพื้นบ้านอันเป็นทรัพยากรท้องถิ่นของเมืองไทย
สถานการณ์ระบาดวิทยาของปลาซัคเกอร์ในประเทศไทย
ระบาดวิทยาเกิดเนื่องจากการปล่อยปลาซัคเกอร์ลงในแหล่งน้ำ พอมันสืบพันธุ์ได้มันก็แพร่พันธุ์อย่างกว้างขวาง จากลักษณะตัวเป็นหนังธรรมดาลื่น ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นเกราะ เพราะฉะนั้นจะหาตัวที่มาทำอันตรายมันได้น้อยมาก ประกอบกับชาวประมงเมื่อจับปลาซัคเกอร์ได้ก็ไม่นำไปกินกลับทิ้งลงในแหล่งน้ำตามเดิม เลยทำให้มันระบาดเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งมีอันตรายกับปลาธรรมชาติชนิดอื่น ๆ
การควบคุมการแพร่พันธุ์ มีลักษณะดังนี้
1.สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงปลาตู้ทั้งหลายว่าถ้าเลี้ยงปลาซัคเกอร์ไปทำความสะอาดตู้ซึ่งเรียกว่าปลาเทศบาล เมื่อเลิกเลี้ยงเนื่องจากตัวใหญ่ขึ้นต้องทำลายทิ้ง
2.เมื่อพบปลาซัคเกอร์ในแหล่งน้ำ หรือต้องการทำลายปลาซัคเกอร์สามารถนำส่งให้กรมประมงเป็นผู้ดูแลจัดการ สำหรับผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด
สามารถส่งให้สถานีประมงประจำจังหวัดได้เลย
3.ต้องมีการสำรวจแหล่งน้ำอยู่ตลอดเวลา ว่ามันลงไปอยู่ในแหล่งน้ำขนาดไหน แต่ถ้ายังไม่ได้ลงไปในแหล่งน้ำยังสามารถประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับชาวบ้านรอบแหล่งน้ำให้มีความรู้เกี่ยวกับปลาซัคเกอร์ได้
4.ประชาสัมพันธ์ว่าปลาซัคเกอร์สามารถที่จะกินเป็นอาหารได้ เพียงแต่ชาวบ้านอาจจะไม่คุ้นเคย เพราะไม่ใช่ปลาบ้านเรา เมื่อจับปลาซัคเกอร์ได้ต้องนำไปกินโดยการต้มแล้วลอกหนังออก หรือนำไปย่างแล้วลอกเอาหนังออก เนื้อปลาซัคเกอร์ไม่เป็นอันตรายและไม่มีพิษ
การลดปัญหาปลาซัคเกอร์
สามารถนำปลาของไทยเข้ามาแทนปลาซัคเกอร์ได้ แต่ก่อนจะมีปลาที่เรียกว่า ปลาสร้อยน้ำผึ้งหรือปลาอีดูด ลักษณะปากก็เหมือนกับปลาซัคเกอร์ กินอาหารพวกสาหร่าย เรียกภาษาอังกฤษว่า แอนจี้ อีทเตอร์ สามารถช่วยทำความสะอาดได้ดีกว่าปลาซัคเกอร์ เพราะการไปลุกรานพื้นที่ก็น้อยกว่า แล้วอีกอย่างคือมันเป็นปลาของไทย แม้จะลดจำนวนลงไปมากแต่สามารถเพาะเลี้ยงขึ้นมาใหม่ได้
กรมประมงน้ำจืด บอกเตือนว่า หากผู้ที่จะเลี้ยงปลาซัคเกอร์ไว้ในตู้ปลาควรระมัดระวังให้ดีอย่าให้หลุดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนใครที่เพาะเลี้ยงไว้ในกระชังควรต้องแจ้งให้ทางจังหวัดทราบเพื่อคอยควบคุมดูแล กรมประมงกำลังหาทางควบคุมกำจัดปลาซัคเกอร์ออกไปจากแหล่งน้ำของไทย เพื่ออนุรักษ์และปกป้องสัตว์น้ำในท้องถิ่นไว้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลังต่อไป
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย menmen