Custom Search
งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่เป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลิเวอร์พูลในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เมื่อปลาตัวจิ๋วที่มีเขี้ยวแหลมคมอย่าง"เฟงเบลนนี" ซึ่งเป็นปลาในกลุ่มของ "ปลาตั๊กแตนหิน" หรือ"ปลาตุ๊ดตู่" กัดศัตรูของมันนั้นจะปล่อยพิษที่มีสารบรรเทาปวดออกมา โดยสารนี้จะออกฤทธิ์คล้ายกับเฮโรอีนทำให้ศัตรูของมันหมดแรงและรู้สึกสับสนไปชั่วขณะ
งานวิจัยที่ไขความลับของโลกใต้ทะเลชิ้นสำคัญนี้พบว่า ปลาเฟงเบลนนี ซึ่งมีสีสันสวยงามและอาศัยอยู่ตามแนวปะการังใช้วิธีปล่อยสารพิษไปยังศัตรูเหมือนสัตว์ใต้ทะเลหลาย ๆ ชนิด เพียงแต่พิษของมันมีส่วนผสมของสารระงับความเจ็บปวดอยู่ด้วย
ดร.นิโคลัส เคสเวลล์ จากวิทยาลัยเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลิเวอร์พูล บอกว่า เมื่อศัตรูโดนพิษนี้เข้า ก็จะทำให้เกิดภาวะความดันเลือดต่ำอย่างฉับพลัน ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนและอ่อนแรง
ซึ่งเจ้าปลาเฟงเบลนนีก็จะอาศัยเวลาช่วงนี้หลบหนีไป นอกจากนี้การรับสารพิษดังกล่าวก็ยังทำให้ศัตรูของปลาเฟงเบลนนี จดจำและหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้เจ้าปลาตัวจิ๋วนี้อีก แม้ว่าทางคณะวิจัยไม่ได้คาดหวังว่าจะนำผลการวิจัยนี้ไปพัฒนาเป็นยาที่ใช้กับมนุษย์
แต่ ดร. เคสเวลล์ ก็แสดงความเป็นห่วงว่า ปัญหามลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ และอาจทำให้พวกเราเสียโอกาสในการค้นพบความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในทะเลที่อาจจะยังประโยชน์แก่มนุษย์เช่นการค้นพบครั้งนี้